Nazi-Soviet Pact; German-Soviet Nonaggression Pact; Ribbentrop-Molotov Pact (1939)

กติกาสัญญานาซี-โซเวียต, กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โซเวียต, กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (๒๔๘๒)

​​     ​​​​​กติกาสัญญานาซี-โซเวียตหรือที่มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โซเวียตหรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟเป็นกติกาสัญญาพันธมิตรระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศร่วมกันลงนามที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เป็นกติกาสัญญาทางทหารที่เยอรมนีและสหภาพโซเวียตตกลงจะไม่รุกรานกันเป็นเวลา ๑๐ ปีและจะวางตัวเป็นกลางหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีโดยประเทศที่สาม กติกาสัญญานาซี-โซเวียตยังมีพิธีสารลับ (Secret Protocols) พ่วงท้ายซึ่งแบ่งเขต อิทธิพลในยุโรประหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต โดยแบ่งโปแลนด์ระหว่างกันและสหภาพโซเวียตได้สิทธิเข้าครอบครองเอสโตเนีย (Estonia) ลัตเวีย (Latvia) ลิทัวเนีย (Lithuania) และฟินแลนด์ (Finland) โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตคาดหวังว่ากติกาสัญญาฉบับนี้จะเป็นการซื้อเวลาให้สหภาพโซเวียตสามารถปรับปรุงกองกำลังทัพให้เข้มแข็งเพื่อป้องกันการขยายอำนาจของเยอรมนีส่วนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* ก็พอใจที่เยอรมนีจะสามารถดำเนินการบุกโปแลนด์และประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลกับกองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียต
     กติกาสัญญานาซี-โซเวียตเป็นผลสืบเนื่องจากความล้มเหลวของความตกลงมิวนิก (Munich Agreement ค.ศ. ๑๙๓๘)* ในการแก้ไขปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเพราะเยอรมนีละเมิดความตกลงดังกล่าวด้วยการส่งกองทัพเข้ายึดครองดินแดนเชโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia)* ส่วนที่เหลือจากที่ได้ยึดไปแล้วในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๘ คือแคว้นโบฮีเมีย (Bohemia) โมเรเวีย (Moravia) และสโลวาเกีย (Slovakia) ทั้งประกาศให้ดินแดนที่ได้ใหม่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* จากนั้น เยอรมนีก็เคลื่อนไหวเรียกร้องให้โปแลนด์คืนเมืองดานซิก (Danzig)* หรือกดานสก์ (Gdansk) ซึ่งเป็นเสรีนครใต้อาณัติขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* รวมทั้งฉนวนโปแลนด์ (Polish Corridor) แก่เยอรมนีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการค้ำประกันพรมแดนด้านตะวันตกของโปแลนด์ โดยเยอรมนีสัญญาว่าจะสนับสนุนโปแลนด์ให้ได้ดินแดนบางส่วนของยูเครน (Ukraine) เป็นการชดเชยในอนาคตแต่โปแลนด์ปฏิเสธ ในขณะเดียวกันเยอรมนีก็บีบบังคับให้ลิทัวเนียคืนเมืองท่าเมเมล (Memel) ที่ลิทัวเนียได้รับตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles ค.ศ. ๑๙๑๙)* แก่เยอรมนีได้สำเร็จ
     นโยบายก้าวร้าวของเยอรมนีทำให้อาร์เทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษยกเลิกนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* และเริ่มหาทางต่อต้านเยอรมนี อังกฤษซึ่งเคยประกาศค้ำประกันเอกราชของโปแลนด์ในกติกาสัญญาอังกฤษ-โปแลนด์ (Anglo-Polish Pact) เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ จึงทำความตกลงกับโปแลนด์เพิ่มเติมในกติกาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Pact of Mutual Assistance) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีตอบโต้นโยบายความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับโปแลนด์ด้วยการประกาศล้มเลิกข้อตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี (Anglo- German Naval Agreement) ค.ศ. ๑๙๓๕ และเพิกถอนกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ (German-Polish Nonaggression Pact) ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะเดียวกันฮิตเลอร์ก็เตรียมวางแผนบุกโปแลนด์เพราะเชื่อมั่นว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่ต่อต้านเยอรมนีเหมือนเช่นกรณีเชโกสโลวะเกีย ฮิตเลอร์กำหนดบุกโปแลนด์ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยใช้แผนที่มีชื่อรหัสว่า "ปฏิบัติการสีขาว" (Operation White) ซึ่งมีเป้าหมายทำลายกองกำลังทัพโปแลนด์ การเข้าควบ คุมเส้นพรมแดนและยึดเมืองดานซิก โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณชนและการโฆษณา ประชาสัมพันธ์แห่งจักรวรรดิไรค์ (Reich Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) จึงเริ่มประโคมข่าวปลุกระดมยั่วยุประชาชนด้วยการสร้างเรื่องว่าชาวเยอรมันในโปแลนด์ถูกข่มเหงรังแกต่าง ๆ นานาและเรียกร้องให้ชาวเยอรมันในโปแลนด์ตอบโต้และก่อสถานการณ์ขึ้นเพื่อเยอรมนีจะใช้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซง
     การตอบโต้ของเยอรมนีต่ออังกฤษและโปแลนด์ทำให้สหภาพโซเวียตเชื่อว่าเยอรมนีมีแผนก่อสงครามสตาลินจึงให้มัคซิม มัคซิโมวิช ลิวีนอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตซึ่งสนับสนุนแนวความคิดการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ในการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารต่อต้านเยอรมนี แต่อังกฤษหน่วงเหนี่ยวการเจรจาส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหภาพโซเวียตกำหนดเงื่อนไขการร่วมมือมากเกินไป เป็นต้นว่าให้ค้ำประกันเอกราชของสามรัฐบอลติก (Baltic States)* และสิทธิที่โซเวียตจะส่งทหาร เข้าไปในดินแดนโปแลนด์และอื่น ๆ นอกจากนี้ทั้งอังกฤษฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียตต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน สหภาพโซเวียตยังไม่พอใจที่โปแลนด์ปฏิเสธความช่วยเหลือทางทหารแก่โซเวียตในกรณีที่ถูกรุกรานและไม่ยอมให้กองทัพโซเวียตเคลื่อนกำลังเข้าสู่ดินแดนโปแลนด์และจัดตั้งฐานทัพทางทหารขึ้นในกรณีเกิดสงคราม แต่หากโปแลนด์ถูกรุกราน สหภาพโซเวียตต้องร่วมมือทางทหารกับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อปกป้องโปแลนด์ อังกฤษยังปฏิเสธไม่ให้ลอร์ดเอดเวิร์ดฮาลิแฟกซ์ (Edward Halifax)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปโซเวียตตามคำเชิญของสตาลินเพื่อตกลงการเป็นพันธมิตรต่อต้านเยอรมนี แต่กลับส่งผู้แทนทางทหารระดับล่างไปเจรจาโดยเดินทางไปกรุงมอสโกทางเรือซึ่งใช้เวลานานและผู้แทนก็ไม่มีอำนาจเต็มที่ในการตกลงและลงนามในสนธิสัญญาสหภาพโซวียตเห็นว่าฝ่ายประเทศตะวันตกขาดความจริงใจ การเจรจาจึงไม่ก้าวหน้า ต่อมาสหภาพโซเวียต เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากลิวินอฟเป็นเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* ซึ่งต่อต้านแนวคิดการประกันความมั่นคงร่วมกัน โมโลตอฟได้เปิดการเจรจาลับกับเยอรมนีเพื่อทำการตกลงร่วมกัน โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีซึ่งไม่ชอบอังกฤษจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองอีกครั้งหลังจากที่ ขาดตอนไปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ และนำไปสู่การตกลงในสนธิสัญญาทางการค้าร่วมกันเป็นเวลา ๗ ปี เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยเยอรมนีจะให้สินเชื่อแก่โซเวียต ๒๐๐ ล้านมาร์คเพื่อแลกเปลี่ยนกับวัตถุดิบเช่น ฝ้าย น้ำมัน ธัญพืช ไม้ซุง เป็นต้น
     ในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตกำลังเจรจาหารือกับประเทศพันธมิตรตะวันตกและเยอรมนีอยู่นั้นริบเบนทรอพก็ดำเนินนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับอิตาลีให้แน่นแฟ้นขึ้น เยอรมนีไม่ต่อต้านการยึดครองแอลเบเนีย (Albania) ของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๙ ทั้งสนับสนุนการสถาปนาพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III)* แห่งอิตาลีให้เป็นกษัตริย์แอลเบเนียอีกตำแหน่งหนึ่งสืบแทนพระเจ้าซ็อกที่ ๑ (Zog I) ที่ ถูกขับออกจากราชบัลลังก์ ต่อมาฮิตเลอร์ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ตอบคำถามของประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Flanklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งขอคำมั่นสัญญาว่าทั้งเยอรมนีและอิตาลีจะร่วมกันปกป้องเอกราชของประเทศต่าง ๆ กว่า ๓๐ ประเทศ ฮิตเลอร์กล่าวยืนยันว่าเยอรมนีตระหนักดีถึงความหมายของคำว่าเอกราชของประเทศต่าง ๆ และความสงบสุขของประชาคมโลกทั้งไม่เห็นคุณค่าของการก่อสงคราม การแสดงออกของเยอรมนีเป็นเพียงเพราะเยอรมนีไม่พอใจอังกฤษที่แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรกับเยอรมนีและเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีเท่านั้น สุนทรพจน์ของฮิตเลอร์ชิ้นนี้ได้ชื่อว่าเป็นสุนทรพจน์การเมืองที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งของเขาในการใช้วาจาประชดประชันและโน้มน้าวอารมณ์ผู้ฟังเคานต์กาเลียซโซ เชียโน (Galeazzo Ciano)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นบุตรเขยของมุสโสลีนีเห็นว่าเยอรมนีได้ช่วยปกป้องชื่อเสียงของอิตาลีทั้งเซียโนและมุสโสลีนีก็ตระหนักว่าเยอรมนีต้องการยึดโปแลนด์แต่อิตาลียังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนเยอรมนีในกรณีเกิดสงครามในยุโรป เซียโนจึงเดินทางมายังกรุงเบอร์ลินเพื่อหารือกับริบเบนทรอพเกี่ยวกับความกังวล ของอิตาลีและนำไปสู่การลงนามในกติกาสัญญาเหล็ก (Pact of Steel) เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๙
     ริบเบนทรอพโน้มน้าวเซียโนให้เชื่อมั่นว่าเยอรมนีก็ยังไม่พร้อมที่จะก่อสงครามในช่วง ๓ ปีเช่นเดียวกับอิตาลี กติกาสัญญาเป็นเพียงการค้ำประกันความร่วมมือระหว่างกันและประกาศจุดยืนความเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศให้ฝ่ายศัตรูและมหาอำนาจอื่น ๆ ได้รับทราบเท่านั้น อิตาลีจึงยอมลงนามในกติกาสัญญาเหล็กนอกจากนี้ เยอรมนีก็ประสบความสำเร็จในการลงนามกติกาสัญญาที่คล้ายคลึงกันกับประเทศลัตเวีย เอสโตเนียและเดนมาร์กด้วย นโยบายเชิงรุกในด้านการต่างประเทศของเยอรมนีมีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตซึ่งหวาดระแวงว่าประเทศตะวันตกกำลังเคลื่อนไหวผลักดันให้เยอรมนีก่อสงครามกับตนจึงหาทางเจรจาร่วมมือกับเยอรมนีในด้านการต่างประเทศ สหภาพโซเวียตตระหนักว่าหากเกิดสงครามขึ้น โซเวียตจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเนื่องจากช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ สตาลินดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge) และสังหารนายทหารระดับสูงไปเป็นจำนวนมาก โซเวียตต้องการเวลาเพื่อปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งและการใช้ประโยชนจากสงครามระหว่างประเทศตะวันตกผลักดันการเกิดการปฏิวัติโลก ในช่วงเวลาเดียวกัน ฮิตเลอร์ก็เสนอแผนการแบ่งโปแลนด์ให้สหภาพโซเวียตพิจารณาเพราะในสงครามที่ จะเกิดขึ้นเยอรมนีไม่ต้องการเปิดแนวรบสองด้านและต้องการให้สหภาพโซเวียตวางตนเป็นกลางเยอรมนีได้ชี้แจงกับอิตาลีว่าการร่วมมือกับโซเวียตเป็นเพียงกลยุทธชั่วคราวเท่านั้น สหภาพโซเวียตซึ่งกำลังเจรจาตกลงทางทหารกับประเทศตะวันตกจึงเปิดการเจรจาลับกับเยอรมนีด้วย และนำไปสู่การลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียตหรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพโมโลตอฟในท้ายที่สุดที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙
     กติกาสัญญานาซี-โซเวียตที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Treaty of Nonaggression between Germany and the Union of Soviet Socialist Republics) กำหนดว่าทั้งสองประเทศจะไม่รุกรานและก่อสงครามกันเป็นเวลา ๑๐ ปีสาระสำคัญของกติกาสัญญาซึ่งมีทั้งหมด ๗ ข้อสรุปได้คือ ๑) ทั้งสองฝ่ายจะไม่รุกรานและโจมตีกันไม่ว่าจะเป็นการรุกรานโดยฝ่ายเดียวหรือร่วมมือกับฝ่ายมหาอำนาจอื่น ๆ ๒) หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีโดยประเทศที่ ๓ อีกฝ่ายจะวางตัวเป็นกลาง ๓) รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะติดต่อร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่มีผลเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์พื้นฐานของกันและกัน ๔) หากเกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างกันแต่ละฝ่ายจะไม่ร่วมกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ทั้งทางตรงและ ทางอ้อมโจมตีกันและกัน ๕) หากเกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะหาทางยุติข้อพิพาทหรือความขัดแย้งด้วยการเจรจาตกลงฉันมิตรหรือการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้น ๖) กติกาสัญญามีอายุ ๑๐ ปีหากไม่มีการดำเนินการใดในช่วงเวลา ๑ ปีก่อนหมดสัญญา กติกาสัญญาจะขยายเวลาต่อไปอีก ๕ ปีโดยอัตโนมัติ และ ๗) กติกาสัญญามีผลบังคับใช้ทันทีที่มีการลงนามและมีการให้สัตยาบันแลกเปลี่ยนสัญญากันที่กรุงเบอร์ลิน
     นอกจากนี้ยังมีพิธีสารลับพ่วงท้ายซึ่งไม่ได้เปิดเผยอีก ๔ ข้อและสรุปได้คือ ๑) ฟินแลนด์ เอสโตเนียลัตเวียและลิทัวเนียเป็นเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียตลิทัวเนียตอนเหนือที่ติดกับอีสต์ปรัสเซียเป็นเขตอิทธิพลของเยอรมนี ๒) โปแลนด์ถูกแบ่งเป็นเขตอิทธิพลของเยอรมนีและสหภาพโซเวียตโดยเยอรมนีได้ครอบครองโปแลนด์ตะวันตก และสหภาพโซเวียตได้โปแลนด์ตะวันออกโดยยึดเส้นแนวแม่น้ำนาเรฟ (Narev) วิสตูลา (Vistula) และซาน (San) เป็นเส้นแบ่งดินแดน ทั้งสองประเทศจะร่วมกันพิจารณาปัญหาความเป็นเอกราชของโปแลนด์โดยพิจารณาจากพัฒนาการทางการเมืองระหว่างประเทศและจะตกลงเจรจากันฉันมิตร ๓) เยอรมนีสละสิทธิ์ในเบสซาราเบีย (Bessarabia)* ดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปแก่สหภาพโซเวียต และ ๔) ทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตจะรักษาความลับของข้อตกลงนี้
     ในช่วงการพิจารณารายละเอียดของกติกาสัญญาเยอรมนีเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตดำเนินการเรื่องผู้ลี้ภัยการเมืองชาวเยอรมันในสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตจึงตกลงที่จะส่งผู้ลี้ภัยทั้งหมดกลับเยอรมนีซึ่งหลังการลงนามกติกาสัญญาชาวเยอรมันกว่า ๔,๐๐๐ คนถูกกวาดต้อนส่งตัวให้หน่วยเกสตาโป (Gestapo)* ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตจะสั่งการผ่านองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ให้พรรคคอมมิวนิสต์และองค์การพรรคท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ ยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านพวกฟาสซิสต์และนาซี นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้ขบวนการต่อต้านฟาสซิสต์ไร้พลังทั้งทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มตรอสกี (Trotskyist) ในยุโรปซึ่งสนับสนุนแนวความคิดการปฏิวัติถาวร (Permanent Revolution) ของเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* พยายามผลักดันการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔ (Fourth International) ขึ้นเพื่อคานอำนาจโคมินเทิร์นและขัดขวางฝ่ายอักษะแต่ประสบความ ล้มเหลว
     เยอรมนีและสหภาพโซเวียตไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของเนื้อหากติกาสัญญานาซี-โซเวียตให้สาธารณชนได้รับทราบเพียงแต่รายงานว่าทั้งสองประเทศตกลงไม่รุกรานกันและกันเป็นเวลา ๑๐ ปี กติกาสัญญานาซี-โซเวียตสร้างความตื่นตะลึงและประหลาดใจไม่เพียงเฉพาะประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคอมมิวนิสต์ตะวันตกที่ต่อต้านนาซีและพลเมืองโซเวียตที่ถูกโน้มน้าวให้ต่อต้านปีศาจร้ายฟาสซิสต์มาเป็นเวลาหลายปีด้วย ในเยอรมนี อัลเฟรด โรเซนแบร์ก (Alfred Rosenberg)* ผู้นำนาซีที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ชุมนุมต่อต้านริบเบนทรอพที่ศูนย์บัญชาการของพรรคที่นครมิวนิกทันทีที่ทราบข่าวการลงนามกติกาสัญญาแต่โรเซนแบร์กก็เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคนาซีคนอื่น ๆ ที่เคยชินกับการต้องยอมรับการตัดสินใจทุก ๆ เรื่องของ ฟือเรอร์ (Führer)* ว่าอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งท้ายที่สุดก็ยอมปฏิบัติตามทุกประการ แกนนำนาซีหลายคนตระหนักว่า "การกระชับความสัมพันธ์" (rapprochement) กับสหภาพโซเวียตเป็นเพียงกลยุทธของท่านผู้นำเท่านั้นและสะท้อนการเดินหมากทางการเมืองอันเฉียบแหลมของท่านผู้นำ
     หลังการลงนามกติกาสัญญานาซี-โซเวียตหรือบางครั้งก็เรียกชื่อว่ากติกาสัญญาฮิตเลอร์-สตาลิน (Hitler-Stalin Pact) ได้ ๑ สัปดาห์ เยอรมนีก็บุกโปแลนด์ทางพรมแดนด้านตะวันตกเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งค้ำประกันเอกราชของโปแลนด์จึงประกาศสงครามกับเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* จึงเกิดขึ้นและในเวลาอันสั้นก็ขยายตัวไปทั่วยุโรปรวมทั้งดินแดนส่วนอื่น ๆ ของโลก ต่อมาสหภาพโซเวียตเข้ารุกรานโปแลนด์ทางตะวันออกตามข้อตกลงลับในกติกาสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายนซึ่งนับเป็นการแบ่งโปแลนด์อีกครั้งเป็นครั้งที่ ๔ (การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๑-๓ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๗๒, ๑๗๙๓ และ ค.ศ. ๑๗๙๕ และทำให้ประเทศโปแลนด์สูญหายไปจากแผนที่ จนกระทั่งเป็นประเทศอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๔๘) และเป็นการละเมิดกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างโซเวียต-โปแลนด์ (Soviet - Polish Nonaggression Pact) ค.ศ. ๑๙๓๒ ในช่วงเวลาเดียวกันสหภาพโซเวียตก็เรียกร้องให้รัฐบอลติกทั้ง ๓ ประเทศรวมทั้งฟินแลนด์ยอมให้สหภาพโซเวียตจัดตั้งฐานทัพขึ้นในดินแดนเหล่านั้น แต่ฟินแลนด์ปฏิเสธ และนำไปสู่การเกิดสงครามฤดูหนาว (Winter War) หรือสงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ (Russo-Finnish War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐)* ชัยชนะต่อฟินแลนด์ยังทำให้สหภาพโซเวียตเห็นเป็นโอกาสใช้ความตกลงลับในกติกาสัญญา นาซี-โซเวียตเข้ายึดครองลัตเวียลิทัวเนียและเอสโตเนียรวมทั้งเบสซาราเบียและบูโควินาทางตอนเหนือ (North Bukovina) ของโรมาเนีย ในการยึดครองลัตเวียนั้นสหภาพโซเวียตได้ยึดลัตเวียตอนเหนือทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเชสฮุพ (Scheschupe) ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของเยอรมนีตามข้อตกลงลับ ค.ศ. ๑๙๓๙ ด้วย ทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตจึงเจรจาตกลงลับเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๑ โดยสหภาพโซเวียตยอมจ่ายเงินชดเชยรวม ๓๑.๕ ล้านมาร์คแก่เยอรมนีเพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนลิทัวเนียทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเชสฮุพ
     เมื่อเยอรมนีล้มเหลวในการยึดครองอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ค.ศ.๑๙๔๐ ฮิตเลอร์จึงเปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อหวังกอบกู้ชื่อเสียงของเยอรมนีจากความพ่ายแพ้ การบุกโจมตีสหภาพโซเวียตของเยอรมนีโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ จึงทำให้กติกาสัญญานาซี-โซเวียต ค.ศ. ๑๙๓๙ สิ้นสุดลง โดยปริยายและภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ดินแดนที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองตามข้อตกลงลับ ค.ศ. ๑๙๓๙ ก็ถูกเยอรมนียึดครองทั้งหมด
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ฝ่ายพันธมิตรยึดข้อมูลเอกสารฝ่ายนาซีไว้ได้และสหรัฐอเมริกาได้นำรายละเอียดของกติกาสัญญานาซี-โซเวียตมาเผยแพร่แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธเรื่องพิธีสารลับพ่วงท้ายของกติกาสัญญา และกล่าวหาว่าประเทศทุนนิยมตะวันตกต้องการทำลายชื่อเสียงและเกียรติภูมิของโซเวียต อย่างไรก็ตาม ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev)* ผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตได้เสนอนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทุก ๆ ด้านที่เรียกว่า "กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา" (Glasnost- Perestroika) หรือนโยบาย "เปิด-ปรับ" ทั้งจะไม่ปิดบังข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน นโยบายดังกล่าวได้นำไปสู่การขุดคุ้ยเรื่องต้องห้ามต่าง ๆ ที่รัฐบาลพรรค คอมมิวนิสต์โซเวียตได้ปิดบังไว้ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๘ สหภาพโซเวียตได้ประกาศยอมรับเรื่องข้อตกลงลับที่พ่วงท้ายในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต กลุ่มประเทศสามสาธารณรัฐบอลติกจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตด้วยข้ออ้างว่าถูกผนวกเข้ารวมกับสหภาพโซเวียตโดยการใช้กำลังบังคับ และเรียกร้องให้นำกติกาสัญญานาซี-โซเวียตมาพิมพ์เผยแพร่ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งเป็นวาระครบ ๕๐ ปีของกติกาสัญญานาซี-โซเวียต กลุ่มแนวร่วมประชาชนของสามสาธารณรัฐบอลติกคือ ลัตเวีย เอสโตเนียและลิทัวเนียได้เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชอย่างสันติและต่อต้านการยึดครองของโซเวียตตามข้อตกลงลับใน กติกาสัญญา ค.ศ. ๑๙๓๙ ด้วยการจับมือกันเป็นลูกโซ่ยาว ๗๐๐ กิโลเมตรตั้งแต่กรุงทาลลินน์ (Tallinn) เมืองหลวงของเอสโตเนียผ่านกรุงริกา (Riga) เมืองหลวงลัตเวียจนถึงกรุงวิลนีอุส (Vilnius) เมืองหลวงลิทัวเนียการต่อต้านอย่างสันติที่เรียกว่า "สายโซ่บอลติก" (Baltic Chain) ซึ่งประชาชนของสามสาธารณรัฐบอลติกเข้าร่วมกว่า ๑.๕ ล้านคนนับเป็นการเรียกร้องเอกราชอย่างสันติที่มีพลังและเป็นที่สนใจของนานาชาติ จนมีส่วนทำให้การแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา
     หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolution of 1987)* ในประเทศยุโรปตะวันออกที่นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกและการประกาศเอกราชของประเทศรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) สภาโซเวียตสูงสุดในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๙ ได้ออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟว่าเป็นการดำเนินนโยบายของสตาลินที่ขัดแย้งต่อความต้องการของประชาชนโซเวียตและเรียกร้องให้สามรัฐบอลติกพิจารณาทบทวนเรื่องการแยกตัวออก แต่ประสบความล้มเหลว ต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ในสมัยประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)* สามสาธารณรัฐบอลติกเรียกร้องให้สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ประณามกติกาสัญญานาซี-โซเวียตอย่างเป็นทางการ แต่ปูตินปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่ารัฐสภาโซเวียตได้เคยกล่าวโจมตีกติกาสัญญาฉบับดังกล่าวมาแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๙ ทั้งตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าสหภาพโซเวียตได้ใช้กำลังเข้ายึดครองสามรัฐบอลติกโดยกล่าวว่าทั้งสามสาธารณรัฐบอลติกเต็มใจที่จะให้กองทหารโซเวียตเข้าไปในประเทศและตกลงที่จะเข้าร่วมเป็นเครือรัฐของสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกัน ปูตินยังให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงเยอรมนีว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบในชะตากรรมของรัฐบอลติกด้วยเพราะใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ทั้งเยอรมนีและรัสเซียเห็นชอบร่วมกันที่จะให้สามรัฐบอลติกเป็นเอกราช และใน ค.ศ. ๑๙๓๙ รัสเซียและเยอรมนีมีความคิดเห็นที่แตกต่างในเนื้อหากติกาสัญญา แต่เยอรมนีก็ตกลงยินยอมที่จะให้สามรัฐบอลติกอยู่ใต้เขตอิทธิพลของโซเวีย



คำตั้ง
Nazi-Soviet Pact; German-Soviet Nonaggression Pact; Ribbentrop-Molotov Pact
คำเทียบ
กติกาสัญญานาซี-โซเวียต, กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โซเวียต, กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
คำสำคัญ
- กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ฟือเรอร์
- สงครามฤดูหนาว
- สงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์
- แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- โรเซนแบร์ก, อัลเฟรด
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- ความตกลงมิวนิก
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- เชโกสโลวะเกีย
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โซเวียต
- พิธีสารลับ
- กดานสก์, เมือง
- โบฮีเมีย, แคว้น
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- สตาลิน, โจเซฟ
- กองทัพแดง
- ไรค์ที่ ๓, จักรวรรดิ
- กติกาความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- โมเรเวีย
- สโลวาเกีย
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์
- กติกาสัญญาอังกฤษ-โปแลนด์
- การประกันความมั่นคงร่วมกัน
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- เมเมล, เมืองท่า
- ฉนวนโปแลนด์
- ข้อตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี
- เชมเบอร์เลน, อาร์เทอร์ เนวิลล์
- ปฏิบัติการสีขาว
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- ดานซิก, เมือง
- รัฐบอลติก
- ลิวีนอฟ, มัคซิม มัคซิโมวิช
- ฮาลิแฟกซ์, ลอร์ดเอดเวิร์ด
- องค์การสันนิบาตชาติ
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- กติกาสัญญาเหล็ก
- เกิบเบิลส์, โยเซฟ เพาล์
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- เชียโน, เคานต์กาเลียซโซ
- กลุ่มตรอสกี
- ริบเบนทรอพ, โยอาคิม ฟอน
- วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓, พระเจ้า
- ซ็อกที่ ๑, พระเจ้า
- ตรอตสกี, เลออน
- สภาไรค์ชตาก
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน เดลาโน
- เกสตาโป
- สนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต
- นาเรฟ, แม่น้ำ
- องค์การโคมินเทิร์น
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔
- กติกาสัญญาฮิตเลอร์-สตาลิน
- เบสซาราเบีย
- เชสฮุพ, แม่น้ำ
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างโซเวียต-โปแลนด์
- ทาลลินน์, กรุง
- บูโควินาทางตอนเหนือ
- นโยบายเปิด-ปรับ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- สายโซ่บอลติก
- ปูติน, วลาดีมีร์
- รัฐบริวารโซเวียต
- วิลนีอุส, กรุง
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล เซียร์เกเยวิช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1939
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๘๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf